หลักการและเหตุผล

ku01

การขยายโอกาสการศึกษาระดับอุดมศึกษาสู่ภูมิภาค เป็นนโยบายที่เร่งดำเนินการในระยะแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 8 โดยคณะรัฐมนตรี ได้มีมติอนุมัติหลักการขยายวิทยาเขตของ มหาวิทยาลัยของรัฐในภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ

โครงการจัดตั้งวิทยาเขตสุพรรณบุรีเป็นโครงการหนึ่งที่อยู่ในความรับผิดชอบของหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2541 ซึ่งทางจังหวัดสุพรรณบุรีได้จัดหาที่สาธารณประโยชน์ลำสมุห์ในอำเภอเมือง และอำเภอบางปลาม้า ประกอบกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีระบบการสอนทางไกลระหว่างวิทยาเขตบางเขนและกำแพงแสน ที่สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ จากทำเลที่ตั้งและความพร้อมในด้านการจัดการสอนทางไกล มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์จึงมีฐานรองรับโครงการจัดตั้งวิทยาเขตสุพรรณบุรีให้เกิดผลสำเร็จได้ด้วยดี

นอกจากนี้ ในระยะแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 8 รัฐบาลไดักำหนดแผนการพัฒนาพื้นที่ ภาคตะวันตก (Western Seaboard) ซึ่งจะมีการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่ รวมถึง การพัฒนางานเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม-เกษตรที่ทำให้สภาพสังคมและความต้องการของ ชุมชนเปลี่ยนแปลงไป สถาบันอุดมศึกษาเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยนำการพัฒนารองรับการขยายตัวและรักษาสภาพสังคมที่พึงประสงค์

แต่ในภาคตะวันตกนั้นยังไม่มีสถาบันอุดมศึกษาของรัฐตั้ง อยู่เลย และหากพิจารณาจากจำนวนนักเรียนมัธยมปลายในเขตการศึกษา 5 ซึ่งครอบคลุมจังหวัดต่างๆ ในภาคตะวันตก ได้แก่ จังหวัดสุพรรณบุรี ราชบุรี กาญจนบุรี ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี และสมุทรสงคราม มีจำนวนนักเรียนในปีการศึกษา 2539 รวมทั้งสิ้น 37,591 คน โดยที่จังหวัดสุพรรณบุรีมีนักเรียนมากที่สุด จำนวน 8,838 คน ดังนั้นแนวโน้มความต้องการเข้าศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาจึงสูงมาก การจัดตั้งวิทยาเขตสุพรรณบุรีจึงเหมาะสมทั้งในด้านที่ตั้ง ความสอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาของพื้นที่และความต้องการของชุมชนท้องถิ่น

นอกจากนั้นจังหวัดสุพรรณบุรีมีอาณาเขตติดต่อกับจังหวัดต่างๆ ในเขตการศึกษา 6 ซึ่งครอบคลุมจังหวัดในภาคกลางตอนบน ได้แก่ จังหวัดอุทัยธานี ลพบุรี สระบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง ชัยนาท และอยุธยา และเป็นเขตที่ยังไม่มีสถาบันอุดมศึกษาของรัฐตั้งอยู่เช่นเดียวกัน วิทยาเขตสุพรรณบุรีจึงสามารถรองรับการขยายการศึกษาในพื้นที่ดังกล่าวได้อีกส่วนหนึ่ง